คงปฏิเสธไม่ได้ว่าที่อยู่อาศัยนั้นมีความสำคัญกับผู้สูงอายุเป็นอย่างมากเนื่องจากในสังคมไทยผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักใช้เวลาอยู่ในบ้านตลอดทั้งวันประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายในหลายๆด้านของผู้สูงอายุการปรับเปลี่ยนที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมจึงมีความสำคัญอย่างมากเพราะนอกจากจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุต่างๆและทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงแล้วยังช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกอบอุ่นและมีสุขภาพจิตที่ดีด้วย
เมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัย รูปแบบการใช้ชีวิตจะมีการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสภาวะร่างกาย จิตใจและสังคม SCG ได้ทำการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับผู้สูงอายุ และแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุเป็น 3 ระดับ ตามลักษณะทางกายภาพและสมรรถนะร่างกายในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
• ผู้สูงอายุกลุ่มสีเขียว คือผู้สูงอายุที่สามารถใช้ชีวิต หรือทำกิจกรรมทั้งในบ้าน และนอกบ้านได้ตามปกติ แต่มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางด้านสุขภาวะในอนาคตหากไม่ป้องกันและดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง
• ผู้สูงอายุกลุ่มสีเหลือง คือผู้สูงอายุที่เริ่มมีการเสื่อมถอยของร่างกาย หรือมีปัญหาด้านสุขภาพบ้างเล็กน้อย แต่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ อาจต้องการอุปกรณ์ หรือผู้ช่วยเหลือในบางกิจกรรม การทำกิจกรรมภายนอกบ้านต้องได้รับการดูแลจากคนในครอบครัวมากขึ้น
• ผู้สูงอายุกลุ่มสีส้ม คือผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านสุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวันมีความสะดวกน้อยลง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในบางกิจกรรม ต้องพึ่งพาอุปกรณ์และผู้ดูแลเป็นส่วนใหญ่ และมักใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน
เนื่องจากผู้สูงอายุแต่ละคนมีความเสื่อมถอยของร่างกายที่แตกต่างกันจึงควรคำนึงถึงการออกแบบที่อยู่อาศัยที่เฉพาะและเหมาะสมกับแต่ละตัวบุคคลมากขึ้นที่พักอาศัยของผู้สูงอายุจึงควรเป็นพื้นที่ที่ออกแบบด้วยความใส่ใจเป็นพิเศษเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถทำกิจวัตรประจำวันต่างๆได้อย่างสะดวกปลอดภัยลดความเสี่ยงต่อการลื่นล้มและอุบัติเหตุต่างๆที่จะเกิดขึ้นซึ่งจากการวิจัยพบว่าสถานที่ที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุดสำหรับผู้สูงอายุคือบริเวณห้องน้ำและบันได
ดังนั้นการออกแบบที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุต้องใส่ใจตั้งแต่โครงสร้างการตกแต่งบ้านการจัดวางหรือติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆเพื่อรองรับความเสื่อมถอยของร่างกาย 4 ด้าน คือ
• การมองเห็น
• การได้ยิน
• การเคลื่อนไหวร่างกาย
• ความไม่สมดุลย์ของฮอร์โมนและอารมณ์
โดยหลักการออกแบบเบื้องต้น ควรคำนึงถึง “การป้องกันและลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น” “การทำให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายและสะดวกขึ้น” “การส่งเสริมสุขภาวะที่ดี” ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถอาศัยร่วมกับทุกคนในบ้านได้อย่างมีความสุข หากมีที่พักอาศัยเดิมอยู่แล้วอาจไม่จำเป็นต้องปรับปรุงบ้านทั้งหลังเพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุจะคุ้นเคยกับการใช้พื้นที่เดิมๆเช่นห้องนอนระเบียงหน้าบ้านเป็นต้นเราจึงควรเลือกปรับเปลี่ยนพื้นที่ตามพฤติกรรมในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุให้ปลอดภัยใช้งานได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้นโดยที่ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากนักยกตัวอย่างเช่น
ทางลาด ควรใช้สัดส่วน 1:12 ถ้าพื้นสูง 10 เซนติเมตร ต้องมีทางลาดยาวไปถึง 120 เซนติเมตร การเข็นรถเข็นจะได้ง่าย และทางลาดต้องใช้วัสดุต่างสัมผัส มองแล้วรู้ว่าต่างกันระหว่างพื้นเรียบ กับพื้นลาด จากในภาพด้านบนจะเห็นว่าผู้ออกแบบได้ออกแบบทางลาดที่สามารถเชื่อมต่อการใช้งานไปที่บริเวณที่จอดรถด้านหน้าของตัวบ้าน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าบ้านได้ง่ายยิ่งขึ้น
พื้นบ้าน หรือพื้นที่ภายในห้องที่ให้ผู้สูงอายุอยู่ ควรเรียบเสมอกัน ไม่ยกพื้นต่างระดับหรือมีธรณีประตู วัสดุกรุพื้นผิวต้องไม่เรียบลื่นจนเกินไป แสงสว่างต้องเพียงพอต่อการมองเห็น มีทางลาดให้รถเข็นขึ้นลงอย่างสะดวก (ตามอัตราส่วน 1:12) ทางเดินต้องมีราวจับช่วยพยุงตัวโดย พื้นบ้านและทางเดินภายในบ้าน ไม่ควรปูพรม เพราะนอกจากจะอมฝุ่นแล้วยังดูแลรักษายาก ถ้าเป็นกระเบื้องก็ต้องเลือกชนิดที่ไม่ลื่น ไม่มัน ไม่มีลวดลายเยอะเกินไปที่ทำให้เกิดตาลาย ควรปรับให้เป็นพื้นเรียบเสมอกัน เพื่อป้องกันการลื่นล้ม เลี่ยงการทำพื้นบ้านต่างระดับ หรือหากต่างระดับต้องทำเครื่องหมายชัดเจน
ห้องนั่งเล่น ควรมีช่องรับแสงทางที่เพียงพอ หรืออยู่ในทิศตะวันออกเพื่อรับแสงยามเช้าทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ติดไฟแสงสว่างให้เพียงพอ ไม่มืดหรือสลัวจนเกินไป เฟอร์นิเจอร์ควรใช้แบบใช้งานง่าย เก้าอี้โยก เก้าอี้เอนหลังได้ และมีพื้นที่โดยรอบเว้นระยะไม่ตั้งเบียดชิดจนเกินไป เพราะผู้สูงอายุบางคนก็มีความจำเป็นต้องใช้รถเข็น หรือใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงตัวในการลุก นั้ง เดิน
ห้องน้ำ ควรมีการแยกระหว่างส่วนเปียกและส่วนแห้ง แต่ไม่ควรมีพื้นต่างระดับ พื้นห้องน้ำควรมีผิวสัมผัสที่หยาบ เพื่อความปลอดภัยและกันลื่น และควรเลือกใช้สุขภัณฑ์ให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละคน
ภายในห้องน้ำควรติดตั้งราวจับเพื่อช่วยในการพยุงตัวทั้งสองข้างของอ่างล้างหน้าและโถสุขภัณฑ์ โดยสามารถเลือกใช้ราวทรงตัวรูปตัวแอลหรือราวทรงตัวแขนพับแบบสวิงตามความเหมาะสม หรือเพิ่มเติมในส่วนของราวจับที่ผนังนำทางไปจนถึงส่วนอาบน้ำ ติดตั้งสูงจากพื้น 60 – 75 เซนติเมตรทั้งนี้ สีของราวจับควรดูแตกต่างจากสีของกระเบื้องผนังอย่างชัดเจนด้วย สำหรับโถสุขภัณฑ์ภายในห้องน้ำ ควรเปลี่ยนมาเลือกใช้รุ่นที่มีที่นั่งสูงจากพื้น 43 – 45 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระดับที่ผู้สูงอายุลุกนั่งได้อย่างสะดวกเมื่อใช้งานร่วมกับราวทรงตัว (ที่นั่งของโถสุขภัณฑ์ปกติจะสูงจากพื้น 38 – 40 เซนติเมตร ทำให้ต้องออกแรงมากขณะดันตัวลุกขึ้นยืน) ที่กดชำระน้ำควรเลือกใช้เป็นแบบคันโยก ส่วนสายชำระควรติดตั้งไว้ด้านข้างให้มือเอื้อมหยิบใช้ได้ง่ายโดยไม่ต้องเอี้ยวตัวไปด้านหลัง หรือจะเปลี่ยนมาใช้ระบบแบบอัตโนมัติก็ช่วยเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ใช้งานได้อีกทางหนึ่ง
ภาพจาก Catalog Century
พื้นที่ส่วนอาบน้ำไม่ควรมีการลดระดับพื้นมากจนเกินไป โดยอาจใช้วิธีการยกพื้นและซ่อนรางระบายน้ำไว้ด้านล่างแทน ทำให้ระดับพื้นทั้งส่วนเปียกและส่วนแห่งเสมอกันแต่ก็ยังสามารถระบายน้ำจากการอาบน้ำได้อยู่ นอกจากนี้ควรจะมีเก้าอี้สำหรับนั่งอาบน้ำมาวางเพิ่มเติม สำหรับผู้สูงอายุบางคนที่ไม่สามารถยืนอาบน้ำนานๆได้ ส่วนฝักบัวอาบน้ำควรยึดกับก้านจับเลื่อนขึ้นลงปรับระดับในการใช้งานได้ อาจะเพิ่มราวจับเพื่อให้ผู้ใช้งานใช้ในการจับและพยุงตัวในระหว่างการอาบน้ำ
อุปกรณ์ใช้สอยต่างๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ และสภาพแวดล้อมอื่นๆ ควรสอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้อยู่อาศัย ผู้สูงอายุมักใช้เวลากับการนั่งมากกว่าการทำกิจวัตรอื่นๆ เนื่องจากกระดูกและข้อเสื่อมลงทำให้สูญเสียการทรงตัว ยกตัวอย่างเช่น
เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เช่น เก้าอี้ ควรมีหลายขนาดและหลายระดับความสูง คนที่มีความสูงต่างกันจะได้เลือกนั่งเก้าอี้ตัวที่นั่งสบาย ไม่ปวดหลังเพราะเกร็ง หรือต้องทนปวดหัวเข่าเวลาที่นั่งงอหัวเข่ามากๆ โดยเมื่อนั่งแล้วให้เข่าทำมุม 90 องศา ฝ่าเท้าแนบพื้น และควรมีที่เท้าแขน เพื่อสะดวกในการนั่ง และลุกขึ้นยืน โต๊ะ – เคาน์เตอร์ครัว ควรออกแบบให้ข้างใต้เปิดโล่ง สามารถสอดขาหรือวีลแชร์เข้าไปนั่งได้สะดวก ตู้วางสิ่งของ ควรติดต่ำกว่าปกติ เพื่อให้ผู้สูงอายุที่อาจใช้รถเข็น สามารถใช้งานได้ถนัด
บานประตู ควรออกแบบให้เป็นบานเลื่อนเปิดปิดง่ายหรือเป็นบานเปิดที่มีความกว้างพิเศษ สามารถเข็นรถเข็นผ่านได้ ไม่ควรมีรอยต่อระหว่างพื้นด้านนอกและด้านใน หน้าต่างและช่องแสง ควรอยู่สูงจากพื้นไม่มากนักเพื่อให้แสงเข้าได้ดีและสามารถมองเห็นทิวทัศน์นอกบ้านได้ ซึ่งดีต่อสุขภาพจิตและส่งผลดีต่อสุขภาพกายด้วย ควรเพิ่มแสงสว่างทั้งจากธรรมชาติและที่ประดิษฐ์ขึ้น ให้ส่องสว่างเพียงพอถึงในทุกจุด เพื่อลดอุบัติเหตุ เพราะสายตาของผู้สูงอายุอาจจะฝ้าฟางไม่เห็นไม่ชัดเจนเหมือนคนปกติทั่วไป แต่ไม่ควรเป็นแสงจ้า ควรเลือกใช้แสงนวลโดยเฉพาะบริเวณทางเดิน บันได และห้องน้ำ
สวิตซ์และปลั๊กไฟฟ้า ก็ควรติตั้งให้กระจายอยู่ในจุดที่เข้าถึงได้สะดวก มีแสงสว่างส่องถึง ระดับของสวิทช์ไฟฟ้า ไม่ควรสูงเกินไปเพื่อให้ผู้สูงอายุกดได้สะดวกโดยไม่ต้องเอื้อม ความสูงที่ประมาณ 120 เซนติเมตรจากพื้น ส่วนระดับปลั๊กไฟฟ้าต้องไม่ต่ำเกินไปเพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุต้องก้มลงไปมาก ความสูงที่ประมาณ 90 เซนติเมตรจากพื้น
นอกจากที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว การเตรียมที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุนั้นควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานและเหมาะสมกับผู้สูงอายุ ได้รับการออกแบบและแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่จะวิเคราะห์ระดับความแตกต่างทางสมรรถภาพเฉพาะบุคคลและนำมาปรับใช้กับที่อยู่อาศัยได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการติดตั้งจากทีมงานที่เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตในที่อยู่อาศัยได้อย่างอิสระ สะดวก ปลอดภัย นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตช่วงสูงอายุที่ดียิ่งขึ้น
Cr.
- Thinkofliving.com/ไอเดียตกแต่ง/การออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ-298312/
- SCG Eldercare Solution